คนไทยผู้ใช้ดาวเทียมที่ควรรู้

"ความจริง"
ที่คนไทยผู้ใช้ดาวเทียมควรรู้

จากเหตุการณ์จอดำที่เกิดขึ้น หลายคนตั้งข้อสังเกตไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิค เทคโนโลยี หรือเป็นเพียงแค่ความต้องการทางธุรกิจ เพราะหลายประเด็นเป็นเรื่องที่ฟังแล้วเหมือนจะเข้าใจได้ แต่บางเรื่องนั่งฟัง นอนฟัง ตีลังกาฟัง ยังต้องกุมขมับพร้อมกับเอายาแดงทาไปด้วย (เพราะแถไปเรื่อย ๆ) วันนี้จึงถือเป็นโอกาศที่ดีจะนำเรื่องนี้มาอธิบายให้เกิดความกระจ่าง และที่สำคัญ มันคือ ข้อเท็จจริง

     เริ่มแรกย้อนกลับไปสัก 40 ปีก่อน การรับชมโทรทัศน์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นใครมีทีวีดูถือว่ามีเงิน มีบุญบารมี ณ ขณะนั้นดูได้แค่ช่องเดียวก็ต้องขอบคุณฟ้าดินที่เป็นใจ เป็นอย่างนี้มาราว ๆ 20 ปีให้หลัง เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่องรายการที่มากขึ้น หมายถึงโอกาศในการส่งมอบข้อความสู่ประชาชนอย่างง่ายและมีประสิทธิภาพ ในเชิงของรัฐศาสตร์หรือเชิงพาณิชย์ การมีช่องรายการมาก ๆ จึงเป็นการเพิ่มโอกาส และความได้เปรียบอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เผอิญติดปัญหาเรื่อง "กายภาพ" ตรงที่ เสาอากาศทั่วไปจะรับสัญญาณได้ชัด ๆ ต้องดูสภาพแวดล้อมหลากหลายปัจจัย เช่น ที่โล่ง อยู่ใกล้ สถานีส่ง ไม่มีภูเขา ไม่มีตึกสูงบังสัญญาณ ซึ่งข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ว่ามาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่า ยังแก้ไขได้ลำบากเสียด้วย (คงไม่มีใครไประเบิดภูเขาทิ้งเพราะต้องการให้สัญญาณทีวีวิ่งมายังบ้านของต้นเองได้ชัดเจน) โลกจึงเกิดเทคโนโลยีตัวใหม่เรียกว่า ดาวเทียม

     การใช้ดาวเทียมได้อุบัติขึ้น พร้อมกับทางเลือกที่เกิดขึ้น นั่นคือ ช่องรายการที่มีอยู่เดิมก็รับได้ชัดเจน พร้อมกันนั้นยังมีช่องรายการใหม่ ๆ อีกมากมายพ่วงมาให้ดูด้วยแบบฟรี ๆ เราจึงเรียกว่าเป็นช่อง Free To Air Channel (FTA) ซึ่งทุกประเทศจะมีช่องรายการ FTA พื้นฐานกันอยู่แล้ว ซึ่งเราเรียกกันติดปากว่า "ฟรีทีวี" (Free TV) นั่นเอง

     ในเชิงสิทธิพลเมืองของประเทศนั้น (สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง Citizens Rights) ใช้หลักการสากลเหมือนกันหมด กเว้นเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์) ได้ถูกบัญญัติไว้ชัดเจน เรื่องสิทธิในการเข้าถึงสื่อสาธารณะ ถือเป็นสิทธิพื้นฐานอันดับแรก ๆ ที่ประชาชนพึ่งมี นั่นก็คือ การรับชมฟรีทีวีของประเทศนั้น สามารถทำได้โดยเสรี โดยไม่มีการกีดกันใด ๆ เพราะฟรีทีวี ชื่อก็บอกว่า ฟรี และประการสำคัญที่สุด รากเหง้าของฟรีทีวีมาจากภาษีของประชาชน

 ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมที่สามารถประหยัดต้นทุนการส่งสัญญาณได้มหาศาล และมีประสิทธิภาพ (นั่นก็คือเรื่องความคมชัด) การใช้ระบบจานดาวเทียมจึงเป็นที่แพร่หลายทั่วโลกโดยปริยาย เพราะได้ประโยชน์ทั้งคนทำรายการ คนส่งสัญญาณ และคนรับชม ในประเทศไทยเราเองนั้น หลังจากเหตุการณ์พฤกษภาทมิฬ รัฐบาลได้ออกมาประกาศเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลอย่างมีความชัดเจน เป็นผลให้จำนวนผู้ใช้จานดาวเทียมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อสี่ห้าปีให้หลังนี่เอง ที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้จานดาวเทียมเติมโตอย่างมีนัยยะสำคัญ และเมื่อมันเป็นสิ่งที่แพร่หลาย เราอาจตีความได้สองนัยยะ ประการแรก คือ คนส่วนใหญ่นั้นต้องการทางเลือกที่หลากหลาย และให้คุณค่ากับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ ส่วนอีกนัยยะหนึ่งคือ ความล้มเหลวของระบบเสาอากาศที่ไม่สามารถพัฒนาต่อเนื่องให้ดีขึ้นได้อีก เพราะติดปัญหาจากข้อจำกัดด้านกายภาพ ไม่ว่าจะเป็น การบดบังคลื่นเนื่องจากภูมิประเทศ หรือการรบกวนของคลื่นภาคพื้นดินอื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย อาทิเช่น คลื่นวิทยุ คลื่นมือถือ ฯลฯ

     ฉะนั้นการที่พลเมืองไทยที่มีความประสงค์ต้องการรับชมทีวีสาธารณะแต่มิอาจดูได้เนื่องจากปัญหาดังกล่าว เขาจึงมีความสมัครใจในการหาจานดาวเทียมมาติดตามหลังคาบ้านกันเอง และปัจจุบันนี้ กว่า 14 ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็นราว 70% ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบจานดาวเทียมในการเข้าถึงสิทธิที่ว่ากันอย่างแพร่หฝายทั้วประเทศแล้ว

     เรื่องราวคงไม่มีอะไรปวดกบาล หากดูกันได้ตามปกติสุข แต่วันดีคืนดี เมื่อสองปีก่อน ช่วงบอลโลก ทางฟีฟ่าได้แจ้งเรื่องด่วน(และเป็นเรื่องเดียวจริงๆ) มาทางผู้ซื้อลิขสิทธิ์ซึ่งก็คือ RS ว่าเกิดปัญหา "Spill Over" แปลเป็นไทยง่ายๆว่า ปัญหาสัญญาณล้นออกนอกประเทศ ท่านผู้อ่านที่พอเข้าใจพื้นฐานของทีวีดาวเทียมจะคิดว่า มันก็ต้องล้นออกนอกไทยเป็นธรรมชาติ เพราะระบบดาวเทียมที่เราใช้อยู่ มันส่งสัญญาณสาดลงไปกว่า 20 ประเทศ แต่ความหมายที่เมืองนอกหมายถึงคือ การรับสัญญาณช่องฟรีทีวีนั้นๆ ต้องมีระบบเข้ารหัส หรือที่เรียกว่า เอ็นคริปชั่น (Encryption) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางเทคนิคในการแก้ปัญหา

     ทาง RS และ PSI ได้ประสานงานกัน จึงสรุปว่า เครื่องรับสัญญาณพีเอสไอส่วนใหญ่มีความสามารถในการเข้ารหัสได้อยู่แล้ว ก็ขอให้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ทำการเข้ารหัสสัญญาณซะ ปัญหาที่เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมก็จบไปง่ายๆ แบบไม่อะไรซับซ้อน เพราะทาง RS ต้องการให้คนไทยรับชมได้มากที่สุด นั่นก้เป็นเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมจึงเอามาออกอากาศผ่าน "ฟรีทีวี" ซึ่งก็ถือเป็นการแสดงเจตนารมย์ชัดเจน เพราะ "ฟรีคือฟรี" และรายได้ของฟรีทีวีมาจากการขายโฆษณาผ่านช่องทางนั้นๆ หากช่องทางนั้นๆมีคนเข้าถึงง่ายและฟรี การสร้างรายได้ทางธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องยาก ส่วน RS จะเอาไปขายอะไรนอกเหนือจากช่องทางฟรีทีวี ก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาซื้อลิขสิทธิ์มาแบบ "All Media Rights" แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ ได้มาครบทุกสิทธิ์ ท่านจะเอาไปต่อยอดธุรกิจ หรือจะเอาไปบริจาด จะเอาไปตั้งเสาส่ง ยืนส่ง หรือตะแคงส่ง มันก็เป็นสิทธิของ RS และทาง RS ไม่ต้องไปสอบถามรบกวนฝรั่งอะไรให้เรื่องมาก ครั้นจะไปกวนฝรั่ง ย้ำคิดย้ำทำมากๆ เข้าเดี๋ยวได้ฝรั่งกวนกลับมา ก็ต้องกินกันเมื่อยปาก

     อีกประการหนึ่งที่คนไทยยังไม่รู้ และต้องรู้คือ มหกรรมกีฬาของมวลชนมนุษยชาติ เช่น บอลโลก กีฬาโอลิมปิกส์ บอลยูโร นั้น ในรายละเอียดสัญญาการซือสิทธิ์ จะมีการระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องส่งผ่านช่อง "ฟรีทีวี" อย่างน้อยขั้นต่ำกี่แมตซ์ เช่น ระบุชัดเจนว่า จากจำนวนแมตซ์แข่นขันทั้งหมด 31 แมตซ์ จะต้องมีอย่างน้อย 17 แมตซ์ ที่ต้องส่งออกอากาศในระบบฟรีทีวี เพราะคนขายสิทธิ์ไม่ได้คำนึงเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ยังมองว่า มหกรรมกีฬาเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกผู้ทุกคนที่อยู่บนผืนโลกจะต้องมีสิทธิในการรับชม เรื่อง "จำนวนคนดู" (Coverage) จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเป็นสาระสำคัญ ฉะนั้นการที่ RS นำบอลโลกมาถ่ายทอดในฟรีทีวี นอกจากจะสามารถสร้างรายได้จากการขายโฆษณาโดยชอบธรรมแล้ว เขายังปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อยู่ในสัญญาอย่างถูกต้องอีกด้วย

     ประเพณีปฏิบัตินี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรของคนต่างชาติ บอลลีกประจำประเทศต่างๆ เช่น บอลลาลีกาของสเปน ซึ่งเป็นบอลที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก รัฐบาลยังมีกฏหมายออกมาชัดเจนด้วยซ้ำว่า ในแต่ละสัปดาห์ จะต้องมีอย่างน้อย1 แมตซ์ ที่ออกอากาศผ่านช่องฟรีทีวีของสเปน นั่นหมายความว่า ดูฟรีแน่ๆ แบบไม่มีเงื่อนไข 1 คู่ ท่านจะใช้เสาก้างปลา  หนวดกุ้ง จานดาวเทียม ส้อมดาวแท้ กระทะผัดหอย ตะหลิวปลาสวาย ไหปลาร้า (สี่อันหลัง ผู้เขียนเติมเข้าไปเอง) หรืออุปกรณ์อะไรก็แล้วแต่ หากมันทำให้ท่านรับชมช่องฟรีทีวีได้ ก็เป็นอันจบ ฉะนั้นท่านจะต้องได้รับชมแบบฟรีๆ แน่นอน ที่เป็นตลกร้ายคือ บอลลาลีกา ถึงแม้จะถือว่าเป็นบอลประจำชาติสเปน แต่ก็ยังไม่ได้เป็น "มหกรรมกีฬาเพื่อมวลมนุษยชาติ" เลยนะครับ แต่อย่างว่า โชคดีประเทศเขามีการรักษาและเคารพสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของพลเรือนไว้อย่างชัดเจน มาถึงตรงนี้เราคงรู้แล้วว่า บอลอังกฤษสามารถมาขายสมาชิกเป็นรายเดือนได้ นั่นเป็นเพราะเขาถือว่า บอลอังกฤษก็คือบอลลีกประจำประเทศนั้นๆ แต่ยังไม่ใช่ " มหกรรมกีฬาเพื่อมวลมนุษยชาติ" ตามที่เราพูดไปข้างต้น

     ก็คงจะมาถึงคำถามว่า แล้วตอนบอลโลกครั้งที่แล้ว ในเมื่อลงฟรีทีวี ก็ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์จอดำใช่หรือไม่? คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ใช่ในที่นี้ คือ การดูผ่านฟรีทีวีย่อมเป็นสิทธิการเข้าถึงขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว(Rights to Access)แต่เผอิญการออกอากาศผ่านดาวเทียมครอบคลุมหลายประเทศ ครั้งนั้น ESPN ร้องไปทางฟีฟ่าว่า สัญญาณดาวเทียมไทยได้ลงไปประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง ทำให้เขามีความยุ่งยากในการจัดเก็บค่าสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ทางฟีฟ่าจึงแจ้งอาร์เอสให้แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว และปัญหานี้ (ซึ่งมีแค่ปัญหาเดียวจริงๆ) ก็แก้ไขได้ง่ายมากๆ คือ ใช้เทคโนโลยีในการเข้ารหัสสัญญาณดังกล่าวให้เครื่องรับสัญญาณของพีเอสไอรับชม ก็เป็นอันจบเรื่อง สัญญาณที่ล้นออกไปนอกประเทศก็เป็นเพียงภาพดำๆ ส่วนคนไทยใช้จานพีเอสไอยังรับชมได้เป็นปกติสุข

     ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไปดูในรายละเอียดสัญญาจะเห็นด้วยว่า ฝรั่งที่ร่างสัญญา ถึงแม้เขาไม่ฉลาดเท่าคนไทย (เพราะไม่ได้กินข้าว แต่อย่าลืมว่าเขาก็ไม่ได้กินหญ้า) เขาก็ยังรอบคอบ และตามทันเทคโนโลยี คิดอะไรไม่ล้าสมัย เนื่องจากให้คำนิยามไว้เสร็จสรรพในข้อตกลงว่า "ฟรีทีวี" คือ การส่งสัญญาณบนพื้นฐานการปลดล็อคการเข้ารหัสใดๆ ที่สามารถให้บริการสู่ผู้ชมได้โดยปราศจากค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นจะเป็นระบบอะไร พิศดารขนาดไหน ถ้ามันคือ FreeTV หรือ FTA ตามนิยามดังกล่าวแล้ว พลเมืองของประเทศนั้นๆ ย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

     ต่อจากนี้ไป ท่านผู้อ่านจะได้ไม่ต้องกังวลว่า "มหกรรมกีฬาโลกเพื่อมวลมนุษยชาติ" ครั้งต่อไป จอจะดำหรือเปล่า อาร์เอส ได้ออกมาประกาศแบบแมนๆ ชัดเจนว่า บอลโลกครั้งหน้า คนไทยจะได้ดูกันแน่นอน และจะไม่มีปัญหาแปลกๆ งงๆ มารบกวนใจชุมชนผู้ใช้จานดาวเทียมอย่างเราๆ ท่านๆ ประการสำคัญ ปัญหาที่เกิดจากเทคนิค ก็ใช้เทคโนโลยีทางเทคนิคมาแก้ไขครับ มันเรียบง่ายจริงๆ ยืนยันได้ (It's that simple.)

     มหาปราชญ์ชาวอินเดียนามว่า โอโซ กล่าวว่า คนพูดความจริง จะใช้ภาษาที่มีความเรียบง่าย เพราะความจริงไม่จำเป็นต้องพึ่งคำอธิบายอะไรเยอะแยะมากมาย ความจริงมีความเป็นสากล หรือเป็นสิ่งสาธารณะ ฉะนั้นใจความของมันสั้นๆ แต่ครบถ้วน ในขณะที่คนพูดโกหก จะต้องพยายามอย่างมากในการอธิบาย ซ้ำไปซ้ำมา และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ ยิ่งพยายามอธิบาย ยิ่งต้องโกหกเพิ่มขึ้น (Once it starts, there's no coming back.) และหลายครั้งที่ตัวคนพูดจะพบว่า ตนเองก็ยังสับสน ไม่เข้าใจในสิ่งที่พูดออกไปเสียเท่าไหร่ คนโกหกมากๆ มันจึงมีอยู่สองลักษณะคือ รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร แต่จะหาเรื่องแถ กับอีกกลุ่มคือ ไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ ฉะนั้นเราไม่ต้องแปลกใจหากฟังใครพูดแล้วรู้สึกว่า เข้าใจยาก ครั้นจะพยายามที่จะทำความเข้าใจ ก็รู้สึกว่ามันช่างซับซ้อนเสียนี่กระไร ถ้าเกิดอาการเช่นนี้ นั่นหมายความได้ง่ายๆ ครับว่า เรื่องที่ท่านฟังอยู่ "มันไม่จริง"

     ท้ายสุด ปราชญ์ท่านบอกไว้อีกครับว่า ความจริงเป็นเรื่องของสามัญสำนึก (Common Sense) ไม่ต้องไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา และไม่ต้องปีนกระไดฟัง ถ้ามันเป็นความจริงเสียอย่าง แค่ได้ฟัง ท่านจะเข้าใจในทันทีครับ

สาธุ...ประเทศไทย 

คัดลอกจากนิตยสารแซทเทิลไลท์ไกด์ ฉบับ July 2012