ปรากฎการณ์ที่มีผลกระทบกับดาวเทียม

1. แรงโน้มถ่วง (Gravity)
          ในขณะที่ดาวเทียมโคจรอยู่ในระนาบวงโคจร (Orbital Plane) จะมีแรงดึงดูดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์มากระทำต่อตัวดาวเทียม โดยทิศทางที่ดึงดูดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการโคจรของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ที่มีการเคลื่อนที่อยู่ จึงต้องมีการรักษาตำแหน่งดาวเทียมให้อยู่ในเขตการโคจรที่กำหนด ซึ่งมีขนาดความกว้างด้านละ 0.1 องศา เพื่อรักษาขอบเขตพื้นที่การให้บริการของดาวเทียม (Footprint) โดยมีการปรับตำแหน่งเป็นช่วง ๆ ตลอดอายุของดาวเทียม
2. พายุสุริยะ (Solar Flares)
          คือพลังงานอันมหาศาลที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยออกมา ณ บริเวณที่มีความเข้มของสนามแม่เหล็กสูงบนดวงอาทิตย์พลังงานที่เกิดขึ้นนี้เทียบได้กับระเบิดขนาด 100 ล้านตัน หรือมีค่าเท่ากับการที่ภูเขาไฟระเบิดเป็นจำนวน 10 ล้านครั้ง โดยพลังงานที่ปล่อยออกมานั้นส่วนหนึ่งจะอยู่ในรูปของพลังงานแสงที่เรามองเห็น เราจึงสามารถสังเกตเห็นแสงที่มีความเข้มสูงบริเวณผิวหน้าของดวงอาทิตย์ในขณะที่เกิดพายุสุริยะ

          พลังงานอีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในรูปของคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น รังสีเอ็กส์, แกมม่า, และรังสียูวี ซึ่งจะส่งออกมาพร้อมกับอนุภาคเล็ก ๆ พลังงานเหล่านี้จะลดน้อยลงมากเมื่อเข้ามาใกล้บรรยากาศโลก ซึ่งมีสนามแม่เหล็กโลกช่วยต้านไว้
          แต่อาจมีผลกระทบต่อตัวดาวเทียมคือจะทำให้เซลส์พลังงานแสงอาทิตย์ที่เสื่อมคุณภาพมีผลให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยลง ซึ่งผู้ผลิตดาวเทียมได้ออกแบบชดเชยการลดลงในส่วนนี้ เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานมาใช้ได้เพียงพอตลอดอายุดาวเทียม
         ผลกระทบอีกส่วนจะเกิดโดยรังสี UV จากพายุสุริยะที่จะทำให้บรรยากาศชึ้นบนสุดของโลกมีอุณหภูมิสูง ขึ้นจนเกิดการขยายตัวและผลักให้ตัวดาวเทียมต่ำลง ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการปรับตำแหน่งดาวเทียมกลับคืน

3. ฝนดาวตก

          เกิดจากการที่ดาวหางเทมเปิล-ทัคเทิล (Cornet Temple-Tuttle) ซึ่งเป็นดาวหางคาบสั้นที่มีวงโคจรรอบละ 33 ปี ได้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ได้ทิ้งเศษฝุ่นซึ่งเป็นองค์ประกอบของดาวหางเป็นจำนวนมหาศาลไว้ โดยมีขนาดประมาณ 1 ม.ม. ถึง 1 ซ.ม. ตามทางที่โคจรผ่าน

          ทุกปีในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โลกจะโคจรตัดกับโคจรของดาวหางนี้ ทำให้เกิดฝนดาวตกมากในช่วงดังกล่าว เมื่ออนุภาคดังกล่าวเคลื่อนที่เข้าสู่บรรยากาศโลกจะมีการชนกับโมเลกุลมากมาย ทำให้เกิดแสงสีต่าง ๆ จากไอของอะตอมต่างชนิด เช่น โซเดียม ให้แสงสีส้ม – เหลือง อะตอมเหล็กให้แสงสีเหลืองอะตอมแมกนีเซียมหแสงสีน้ำเงินเขียวเป็นต้น
          ส่วนโอกาสที่ดาวเทียมจะได้รับความเสียหายเนื่องจากฝนดาวตกวิ่งเข้ามาชน จึงต้องมีแต่น้อยมากคือในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีโอกาสที่จะถูกชนเพียง 0.007%
          นอกจากนี้เราสามารถลดโอกาสที่ถูกชนได้อีก อย่างเช่นดาวเทียมไทยคม 3 จะมีการหมุนแผงเชลล์ แสงอาทิตย์เพื่อหลบทิศทางการเคลื่อนที่ของฝนดาวตกเล็กน้อย
4. สุริยคราส (Eclipse)

          ขณะที่ดาวเทียมอยู่ในวงโคจร อุปกรณ์ต่าง ๆ ในดาวเทียมจะใช้พลังงานที่ผลิตได้จากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์  (Solar cell) ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลาที่มีแสงจากดวงอาทิตย์ แต่จะมีบางช่วงที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเทียมโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่โลกมาบดบังแสงจากดวงอาทิตย์
          ช่วงระยะเวลาดังกล่าว เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บนดาวเทียมจะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงต้องมีแบตเตอรี่อยู่บนดาวเทียมจะทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าแทน และชาร์จแบตเตอรี่กลับคืนเมื่อดาวเทียมออกจากช่วง Eclipse เพื่อรองรับการเกิด Eclipse ในวันต่อไป
          การเกิด Eclipse นั้นจะเกิดเป็นฤดู โดยฤดูแรกตอนต้นปีจะเริ่มในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูที่สองจะเริ่มในช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ละฤดูจะมีระยะเวลาประมาณ 45 วัน
          ช่วงเวลาในการเกิด Eclipse จะเริ่มจากน้อย ๆ ตอนต้นฤดู และมีระยะเวลานานขึ้นเรื่อง ๆ จนกระทั่งนานที่สุดในช่วงกลางฤดู หลังจากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งออกจากฤดู Eclipse โดยจะมีระยะเวลาที่นานที่สุด คือ 72 นาที ดังนั้นในการออกแบบดาวเทียม จึงต้องออกแบบให้มีพลังงานสำรองจากแบตเตอรี่เพียงพอที่จะจ่ายให้ ดาวเทียมในช่วงการเกิด Eclipseที่ยาวนานที่สุด

5. Sun Outage
     คือปรากฎการณ์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในแนวเส้นดวงเดียวกันกับดาวเทียมและจานรับสัญญาณภาคพื้นดินทำให้เกิดสัญญาณรบกวนที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์ในขณะที่มีการใช้งานสื่อสารผ่านดาวเทียมทำให้คุณภาพของสัญญาณที่ได้รับต่ำลงในช่วงเวลาดังกล่าว

     ปรากฎการณ์ Sun Outage นี้ จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และสามารถพยากรณ์การเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า จึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานดาวเทียมมากเท่าใด

     Sun Outage จะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ส่วนวันและเวลาที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดาวเทียมและจานรับสัญญาณภาคพื้นดิน